แจ็กเดอะริปเปอร์ (Jack the Ripper) เป็นสมญาของฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าคนในย่าน "ไวต์ชาเปล" ถิ่นยากจนในย่านอีสต์เอนด์ ของกรุงลอนดอน ในช่วงครึ่งปีหลังของ ค.ศ. 1889 ชื่อสมญาได้มาจากข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ที่ลงข่าวจดหมายลึกลับที่เขียนถึงสำนักข่าวกลางโดยผู้เขียนที่อ้างตนว่าเป็นฆาตกร ถึงแม้จะมีการสืบสวนและมีทฤษฎีที่น่าเชื่อถือมากมาย แต่ก็ไม่สามารถบ่งบอกโฉมหน้าที่แท้จริงของฆาตกรได้เลย
ตำนานเล่าขานเกี่ยวกับฆาตกรแจ็กเดอะริปเปอร์ได้กลายเป็นขนมผสมน้ำยา ระหว่างการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังทางประวัติศาสตร์ ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดและนิทานพื้นบ้าน การขาดหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดทำให้เกิดมีคำว่า "นักริปเปอร์วิทยา" มาใช้เรียกนักประวัติศาสตร์และนักสืบสมัครเล่นที่ศึกษาคดีอันโด่งดังนี้เพื่อกล่าวหาหรือพาดพิงถึงบุคคลต่าง ๆ ว่าคือตัวริปเปอร์ หนังสือพิมพ์ซึ่งมียอดขายเพิ่มสูงมากในช่วงนี้โทษว่าเป็นเพราะความล้มเหลวของตำรวจที่ไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ ทำให้ฆาตกรได้ใจและท้าทาย เหตุการณ์จึงเกิดต่อเนื่องเรื่อยมา บางครั้งตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุหลังเกิดการฆ่าเพียง 2-3 นาที แต่กลับไม่ได้ตัวคนร้าย
เหยื่อเกือบทั้งหมดเป็นโสเภณี ฆาตกรรมส่วนใหญ่เกิดในที่สาธารณะหรือกึ่งสาธารณะ เหยื่อทุกรายถูกเชือดคอ หลังจากนั้นซากศพจะถูกหั่นตรงช่วงท้องและบางครั้งที่อวัยวะเพศ คาดกันว่าเหยื่อจะถูกรัดคอให้เงียบเสียก่อนลงมือฆ่า มีหลายกรณีที่มีการตัดอวัยวะภายในออก จึงมีผู้อนุมานว่าฆาตกรอาจเป็นศัลยแพทย์หรือไม่ก็คนขายเนื้อ ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้
การสืบสวน
กรณีแจ็กเดอะริปเปอร์ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าในเทคนิคการสอบสวนและนิติเวชศาสตร์มากที่สุดหลังเหตุการณ์
วิธีการด้านนิติเวชสมัยใหม่ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่รู้จักของตำรวจนครบาลในสมัยวิกตอเรีย แนวคิดเกี่ยวกับแรงกระตุ้นหรือแรงดลใจให้ลงมือกระทำการฆ่าของฆาตกรต่อเนื่องยังไม่เป็นที่เข้าใจกันแต่อย่างใด ตำรวจในสมัยนั้นเข้าใจเพียงแรงจูงใจอาชญากรรมที่มีต้นจากความต้องการทางเพศเท่านั้น
ลำดับเหตุการณ์
- 31 สิงหาคม ค.ศ. 1888 ฆาตกรรมเหยื่อรายแรก เป็นโสเภณี
- 8 กันยายน ค.ศ. 1888 ฆาตกรรมเหยื่อรายที่สอง เป็นโสเภณีเช่นกัน
- 25 กันยายน ค.ศ. 1888 จดหมายส่งถึงสำนักงานเซ็นทรัล ลงนาม “แจ๊กเดอะริปเปอร์”
- 30 กันยายน ค.ศ. 1888 ฆาตกรรมเหยื่อรายที่สามกับสี่ในเวลาไล่เลี่ยกัน
- 1 ตุลาคม ค.ศ. 1888 ไปรษณีย์บัตร “แจ็ค เดอะ ริพเปอร์” ถึงสำนักข่าวเดิม
- 16 ตุลาคม ค.ศ. 1888 พัสดุลงชื่อ “จากนรก” ส่งไตครึ่งซีกไปให้จอร์ช ประธานคณะกรรมการป้องกันภัยไวต์ชาเปล
- 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 เหยื่อรายที่ห้าคาดว่าเป็นรายสุดท้าย
- 31 ธันวาคม ค.ศ. 1888 พบศพมองตาดู จอห์น ดรูอิทท์ หนึ่งในผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแจ๊กเดอะริปเปอร์ จมน้ำตาย สันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตาย
- ค.ศ. 1890 อารอน โคสมินสกี้ ผู้ส่งเข้าโรงพยาบาลโรคจิตและเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1919
- ค.ศ. 1892 ปิดคดีแจ็กเดอะริปเปอร์ โดยหาผู้กระทำความผิดไม่เจอ
ผู้ต้องสงสัย
มีการตั้งข้อสันนิษฐานมากมายเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัยเป็น แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ เช่น ฆาตกรรายนี้อาจเป็นหมอ คนขายเนื้อ โดยประเมินจากอาวุธและวิธีการก่อเหตุ ซึ่งบ่งชี้ว่าคนร้ายมีความรู้ด้านกายวิภาคของมนุษย์
นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีอื่น ๆ ที่ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับตัวคนร้าย โดยหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคือ เจ้าชายอัลเบิร์ต วิคเตอร์ ดยุคแห่งคลาเรนซ์ พระราชนัดดา (หลาน) ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร แต่หลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหานี้ไม่ชัดเจนพอ
ข้อสันนิษฐานล่าสุด
ในสารคดีของบีบีซีที่ชื่อ Jack the Ripper - The Case Reopened ที่ออกอากาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาและนิติเวชศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ ตัวจริงอาจเป็น นายแอรอน คอสมินสกี เพราะการวิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ พบว่าเขามีพฤติการณ์เข้าข่ายจะเป็นฆาตกรใจโหดรายนี้มากที่สุด เนื่องจากอาศัยอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุในย่านไวท์แชปเปิลตอนนั้น รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี และสามารถแฝงตัวให้กลมกลืนไปกับผู้คนในพื้นที่ได้ดี
ศาสตราจารย์เดวิด วิลสัน นักอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมซิตี ระบุว่า นายคอสมินสกี เป็นชาวโปแลนด์ที่อพยพมาอังกฤษกับครอบครัวเมื่อปี 1881 เขามีประวัติป่วยทางจิตตั้งแต่ปี 1885 โดยมีอาการหวาดระแวง และมีพฤติกรรมรุนแรง
จากการศึกษาค้นคว้าของ ศ.วิลสัน พบว่า นายคอสมินสกี อ้างว่ามีพฤติกรรมรุนแรงเพราะได้ยินเสียงที่สั่งให้เขาแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นออกมา โดยในปี 1890 ครอบครัวได้ส่งตัวเขาเข้ารับการรักษาทางจิต หลังจากใช้มีดทำร้ายพี่น้องผู้หญิงของตัวเอง และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นายคอสมินสกี ก็เข้าออกโรงพยาบาลจิตเวชหลายแห่ง ก่อนที่จะเสียชีวิตจากภาวะเนื้อตายเน่า (gangrene) ในปี 1919
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น